โฟล์กสวาเกน บีเทิล (อังกฤษ: Volkswagen Beetle) เป็นรถรุ่นหนึ่ง ของค่ายรถยนต์โฟล์กสวาเกน ผลิตระหว่าง พ.ศ. 2481 - พ.ศ. 2546 รวมระยะเวลาการผลิต 65 ปี ยอดจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 21,529,464 คัน ซึ่งถือเป็นรุ่นที่ออกแบบครั้งเดียว แล้วสามารถทำยอดขายได้สูงสุด และผลิตเป็นระยะเวลานานที่สุดในประวัติศาสตร์ยานยนต์ (รถรุ่นอื่นๆ จะต้องมีการออกแบบใหม่และปรับโฉมนับสิบรุ่นในชื่อเดียวกัน เพื่อให้ทันสมัยและรักษายอดจำหน่าย จึงจะสามารถทำยอดขายได้ในหลักล้าน) บีเทิล เป็นรถขับเคลื่อนล้อหลัง และเครื่องยนต์อยู่ด้านหลังของตัวรถ
อันที่จริงแล้ว ชื่อเดิมของมันไม่ใช่บีเทิล เดิมทีโฟล์กสวาเกน จะเรียกรถรุ่นนี้ว่า Volkswagen แล้วตามด้วยขนาดของลูกสูบโดยประมาณของรถคันนั้น ซึ่งมี 5 ขนาด ทำให้มีชื่อเรียกได้ 5 แบบ คือ Volkswagen 1600, Volkswagen 1500, Volkswagen 1300, Volkswagen 1200 และ Volkswagen 1100 แต่ต่อมา ผู้คนในประเทศเยอรมนี (โฟล์กสวาเกน เป็นบริษัทเยอรมัน) เริ่มเรียกรถรุ่นนี้ว่า "K?fer" ซึ่งเป็นศัพท์ภาษาเยอรมันว่า ด้วง ตามรูปทรงของรถ และในแถบประเทศอื่นๆ ก็เริ่มเรียกกันย่อๆ ว่า Beetle และการเรียกย่อๆ ได้รับความนิยม ด้วยเป็นชื่อที่เรียกง่ายกว่าที่จะเรียกว่า โฟล์กสวาเกน 1100 หรือตัวเลขอื่นๆ ต่อมา ความนิยมที่จะเรียกรถรุ่นนี้ว่า ด้วง ได้แพร่กระจายไปยังประเทศอื่นที่มีรถรุ่นนี้จำหน่าย โดยในแต่ละประเทศ มักจะเรียกรถรุ่นนี้ย่อๆ เป็นคำว่า ด้วง หรือแมลงอื่นๆ ที่ใกล้เคียง ของภาษานั้นๆ รวมทั้งในประเทศไทย ที่เรียกรถรุ่นนี้กันอย่างติดปากมาจนถึงปัจจุบันว่า "รถโฟล์กเต่า" หรือ "รถเต่า"
ต่อมา ใน พ.ศ. 2510 โฟล์กสวาเกน จึงได้เริ่มใช้ชื่อ โฟล์กสวาเกน บีเทิล อย่างเป็นทางการ และการผลิตบีเทิลดำเนินต่อไปเป็นรถยะเวลานาน เมื่อรูปทรงเริ่มมองดูล้าสมัย ยอดขายก็เริ่มลดลง และโฟล์กสวาเกนเริ่มหยุดขายบีเทิลในประเทศต่างๆ (ประเทศไทย หยุดขาย พ.ศ. 2521) จนกระทั่ง พ.ศ. 2541 ก็เหลือประเทศสุดท้ายคือ เม็กซิโก เป็นประเทศสุดท้ายที่โฟล์กสวาเกนยังผลิตรุ่นบีเทิลอยู่ จนกระทั่ง โฟล์กสวาเกน ตัดสินใจหยุดการผลิตบีเทิลลงอย่างสมบูรณ์ในวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2546
ถึงการผลิตจะได้สิ้นสุดลงแล้ว บีเทิลก็ยังได้รับการจัดอันดับในรายชื่อรถยนต์ยอดเยี่ยมแห่งศตวรรษ เป็นอันดับ 4 รองจาก ฟอร์ด โมเดลที, มินิ และ ซีตรอง ดีเอส
ใน พ.ศ. 2476 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำแห่งจักรวรรดิไรซ์ที่สาม (ปัจจุบันคือประเทศเยอรมนี) ในขณะนั้น ได้มองเห็นว่า บริษัทรถยนต์ส่วนใหญ่ในขณะนั้น มักจะเป็นบริษัทรถยนต์หรูหรา ฟุ่มเฟือยมาก ทำให้มีเพียงผู้คนที่ฐานะร่ำรวยเท่านั้นที่ซื้อรถได้ ฮิตเลอร์ ซึ่งมีแนวคิดแบบชาตินิยม ได้สั่งการให้เฟอร์ดินานด์ ปอร์เช วิศวกรยานยนต์ (มีผลงานออกแบบรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ เอสเอสเค และรถปอร์เชอีกหลายรุ่น) พัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ ที่เป็นรถยนต์ระดับมาตรฐาน และสามารถบรรทุกผู้ใหญ่ 2 คน และเด็กอีก 3 คน ไปพร้อมๆ กันได้ และสามารถวิ่งด้วยอัตราเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ เป็นรถครอบครัวราคาถูก เพื่อให้ประชาชนแห่งจักรวรรดิไรซ์ที่สามได้มีรถยนต์ไว้ใช้ รวมทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไปในตัว เฟอร์ดินานด์ ได้ดำเนินการพัฒนารถยนต์ที่มีคุณลักษณะตามความต้องการดังกล่าว จนแล้วเสร็จ ตั้งชื่อว่า โฟล์กสวาเกน ไทป์ 1 (ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น บีเทิล)
พ.ศ. 2480 บริษัทโฟล์กสวาเกนถูกจัดตั้งขึ้น เพื่อผลิตรถยนต์ราคาถูกและประหยัดน้ำมันสำหรับประชาชนแห่งจักรวรรดิไรซ์ที่สาม และไทป์ 1 ก็เป็นหนึ่งในรถยนต์รุ่นแรกๆ ของโฟล์กสวาเกน เริ่มการผลิตครั้งแรกใน พ.ศ. 2481 ตามคำสั่งของฮิตเลอร์ ด้วยราคาประมาณคันละ 990 ไรซ์มาร์ก (สกุลเงินของจักรวรรดิไรซ์ที่สาม ปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว, รายได้เฉลี่ยของประชาชนจักรวรรดิไรซ์ที่สาม ณ ขณะนั้น อยู่ที่ประมาณ 140 ไรซ์มาร์ก/เดือน) ซึ่งใกล้เคียงราคาของรถจักรยานยนต์
การออกแบบของไทป์ 1 ส่วนใหญ่ใช้แนวคิดจากรถยนต์ยี่ห้อทาทรา (อังกฤษ: Tatra) รถยนต์ระดับกลาง ซึ่งมีลูกค้าอยู่มากพอสมควร ด้วยเพราะไม่เป็นรถยนต์ที่หรูเกินไปนัก แต่ก็มีเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกสบายให้อย่างตรงความต้องการ ซึ่งเทคโนโลยีบางอย่างก็ได้นำไปใช้ในไทป์ 1 ด้วย
การนำความคิดของทาทรามาใช้มากเกินไป ทำให้ทาธราฟ้องร้องโฟล์กสวาเกน แต่ทว่า เพียง 1 ปีให้หลัง สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เริ่มต้นขึ้นในพ.ศ. 2482 และจักรวรรดิไรซ์ที่สามเป็นหนึ่งในแกนนำหลักของฝ่ายอักษะ ทำให้คดีชะงัก และการผลิตบีเทิลเพื่อจำหน่ายต้องระงับไปชั่วคราว และต้องมาผลิตให้กองทัพนำไปใช้
ไทป์ 1 ถูกออกแบบเครื่องยนต์ให้เป็นเครื่องยนต์อย่างง่าย ไม่ใช้เทคโนโลยีมากนักซึ่งส่งผลดีในการปฏิบัติการจริง จะไม่เกิดปัญหาจุกจิกมากนัก ฮิตเลอร์นำไทป์ 1 ไปใช้เป็นรถปฏิบัติการทางทหารในหน่วย "Afrika Korps" หน่วยกองกำลังทางทหารของนาซีในประเทศลิเบียและตูนีเซีย โดยกองทัพจะเรียกรถรุ่นนี้ว่า KdF-Wagen ซึ่งเครื่องยนต์ระดับง่ายของบีเทิลก็ไม่ก่อให้เกิดปัญหาจุกจิกมากนัก
แต่กระนั้น ไทป์ 1 ก็ผลิตได้ไม่มากนัก ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยเพราะสงครามโลกทำให้เกิดภาวะการขาดแคลนพลังงาน นอกจากรัฐบาลแล้ว ไม่มีหน่วยงานองค์กรหรือประชาชนซื้อมากนัก และนอกจากนี้ โรงงานของโฟล์กสวาเกน ก็ได้รับความเสียหายจากภาวะสงคราม แต่โชคดีที่ต้นแบบเทคโนโลยีจำนวนมากถูกเคลื่อนย้ายไปยังที่ปลอดภัย ทำให้สามารถฟื้นฟูกิจการหลังสิ้นสุดสงครามได้
พ.ศ. 2488 สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดโดยฝ่ายอักษะยอมแพ้ จักรวรรดิไรซ์ที่สามล่มสลาย (กลายเป็นประเทศเยอรมนี) ฝ่ายสัมพันธมิตร ได้เข้าควบคุมเยอรมนีในหลายด้าน ส่วนทางด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ เยอรมนีก็ถูกบังคับให้ผลิตรถยนต์เองในแต่ละปีได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนรถที่ผลิตใน พ.ศ. 2479 ส่วนโฟล์กสวาเกน ก็ถูกควบคุมโดยสหราชอาณาจักร ซึ่งในช่วงนี้ โฟล์กสวาเกนอาจต้องกลายเป็นบริษัทอังกฤษ ผลิตรถยนต์ให้กองทัพอังกฤษ หรือประชาชนอังกฤษ
แต่ด้วยความที่บริษัทรถยนต์ในอังกฤษส่วนใหญ่ต่างเห็นว่า โฟล์กสวาเกนเป็นรถยี่ห้อต่ำ ใช้เทคโนโลยีอย่างง่ายๆ ความสะดวกสบายไม่มี ถึงราคาจะถูกกว่ารถหรูแต่ถือว่าไม่คุ้มค่าที่จะผลิต คาดว่าประชาชนคงไม่สนใจนัก โฟล์กสวาเกนจึงไม่ถูกผนวกเข้ากับบริษัทอื่นๆ และในปี พ.ศ. 2488 โฟล์กสวาเกน ไทป์ 1 ก็ถูกผลิตขึ้น 1,785 คัน แต่ในขณะเดียวกัน คดีความระหว่างโฟล์กสวาเกน และทาทรา ก็เริ่มเดินอีกครั้ง
พ.ศ. 2489 การควบคุมอุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มคลายความเข้มข้นลง ยอดผลิต ไทป์ 1 เพิ่มขึ้นสู่หลักพันคันต่อเดือน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งในพ.ศ. 2492 ก็เริ่มมีการผลิตบีเทิลรุ่นเปิดประทุนด้วย และในที่สุด สัมพันธมิตรยกเลิกการควบคุมอุตสาหกรรมยานยนต์ในพ.ศ. 2494 จึงสามารถผลิตไทป์ 1 ได้อย่างอิสระ ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมาก ด้วยความที่เป็นรถราคาถูก รวมทั้งมีรายละเอียดทางเทคนิคที่ดีพอใช้ คือ เครื่องยนต์มาตรฐาน ให้กำลังสูงสุด 25 แรงม้า, ความเร็วสูงสุด 115 กิโลเมตร/ชั่วโมง, เร่งความเร็วจาก 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 27.5 วินาที, อัตราสิ้นเปลืองน้ำมัน 15 กิโลเมตร/ลิตร
พ.ศ. 2496 เป็นช่วงที่มีการปรับรายละเอียดปลีกย่อยในตัวรถ ที่เห็นได้ชัดคือ รถซีดาน กระจกหลัง เปลี่ยนจากแบบวงรีผ่าครึ่ง เป็นวงรีเต็มวง และมีขนาดใหญ่ขึ้นเล็กน้อย รายละเอียดโดยภาพรวมไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ปัจจุบัน วงการรถต่างเห็นตรงกันว่า ไทป์ 1 รุ่นกระจกหลังวงรีเต็มวง เป็นรถโฟล์กเต่าที่ดีที่สุดในแง่ของการผลิต เช่น ความหนาของเหล็ก ความทนทานในแง่ต่างๆ เพราะหลังจากมีการปรับโฉมอีกครั้ง โฟล์กสวาเกนพยายามลดต้นทุนของไทป์ 1 ลง ทำให้ไทป์ 1 และบีเทิลในรุ่นต่อๆ มา ไม่ทนทานเท่ารุ่นนี้
นอกจากนี้ ในพ.ศ. 2498 ไทป์ 1 มียอดการผลิตสะสมครบ 1 ล้านคัน จึงมีการผลิตรถไทป์ 1 คันที่ 1,000,000 เป็นสีทองประดับเพชร (แสดงรูปอยู่ด้านบนของบทความ) เป็นคันพิเศษ
พ.ศ. 2500 โฟล์กสวาเกน เปลี่ยนรายละเอียดของไทป์ 1 อีกครั้ง โดยเป็นกระจกหลังแบบสี่เหลี่ยมขอบมนขนาดใหญ่ ซึ่งรูปแบบนี้ได้ใช้ไปจนกระทั่งเลิกผลิต ต่อมาใน พ.ศ. 2504 คดีความระหว่างโฟล์กสวาเกนและทาทราสิ้นสุดลง หลังโฟล์กสวาเกน ยิมยอมจ่ายค่าปรับให้ทาทรา 3,000,000 มาร์กเยอรมัน (สกุลเงินใหม่ของประเทศเยอรมนีต่อจากไรซ์มาร์ก ปัจจุบันสกุลเงินนี้ก็ถูกยกเลิกไปแล้วเช่นกัน) หลังจากนั้น ถึงจะคุณภาพการผลิตไม่สูงเท่ารุ่นกระจกหลังรี แต่อัตราการขายของไทป์ 1 มีภาพรวมเพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อยๆตลอดช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 ด้วยการวางแผนการตลาดและการวางแผนโฆษณาที่ยอดเยี่ยม ทั้งการหาตลาดใหม่ นโยบายส่งเสริมการขาย ภาพลักษณ์ที่ดีของบีเทิล ทำให้อัตราการขายพุ่งสูงขึ้นไปไม่หยุด
พ.ศ. 2510 โฟล์กสวาเกน เริ่มใช้ชื่อบีเทิลในรถรุ่นนี้อย่างเป็นทางการ ซึ่งรูปทรงภาพนอกไม่ต่างจากรุ่นสี่เหลี่ยมขอบมนเท่าใดนัก แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดคือเครื่องยนต์ บีเทิลรุ่นปี 1967 มีการเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์ใหม่ทั้งหมด เป็นเครื่องยนต์ 1500 ซีซี OHV ให้กำลังสูงสุด 54 แรงม้า (จากเดิมที่ 25 แรงม้า) ในรุ่นแรกๆ แรงบิดสูงสุด 105 นิวตัน-เมตร นอกจากนี้ ระบบไฟฟ้าในรถยนต์ได้เปลี่ยนจากระบบ 6 โวลต์ เป็น 12 โวลต์ ปั่นกำลังไฟฟ้าได้สูงสุด 360 วัตต์ ความเร็วสูงสุด 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และนอกจากเครื่องยนต์แล้ว บีเทิลรุ่นปี 1967 ยังมีการใส่อุปกรณ์มาตรฐานเพิ่มเติมอีกมากที่ไม่มีในรุ่นก่อนๆ เช่น ที่พักแขนบนประตูฝั่งคนขับ, ระบบที่ปัดน้ำฝนแบบ 2 ระดับความเร็ว, สัญญาณไฟถอยหลัง, กระจกมองหลังฝั่งคนขับ, ปุ่มล็อกประตู(ที่ติดตั้งบนประตู) และเครื่องปรับอากาศระบบใหม่ ออกแบบมาเพื่อติดตั้งในบีเทิลโดยเฉพาะ มาแทนเครื่องปรับอากาศระบบไอน้ำแบบเก่า ที่ใช้มาตั้งแต่รุ่นแรกๆ
พ.ศ. 2511 บีเทิลมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง หลังจากมีการตรากฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ในสหรัฐอเมริกาขึ้นใหม่ คือ ไฟหน้าของบีเทิล จากเดิมที่จะเป็นเบ้าลึก ครอบภายนอกด้วยวัตถุโปร่งแสง ต้องเปลี่ยนใหม่ โดยไม่ใช้วัตถุโปร่งแสงครอบ และเบ้าลึกถูกขยับมาด้านหน้าให้ตื้นลง และใช้วัตถุโปร่งใส มองเห็นภายในได้ชัดเจน ต่อมาใน พ.ศ. 2514 เป็นปีที่บีเทิลมียอดจำหน่ายรายปีสูงที่สุด คือ 1.3 ล้านคัน
พ.ศ. 2514 โฟล์กสวาเกน ออกบีเทิลรุ่นพิเศษออกมา คือ ซูเปอร์ บีเทิล 1302 ผลิตระหว่าง พ.ศ. 2514-2515 มีจุดเด่นที่แตกต่างจากรุ่นมาตรฐานที่เห็นได้ชัดคือ ซูเปอร์ บีเทิล มีตั้งถังทั้งแบบซีดานและแบบเปิดประทุน ในขณะที่บีเทิลมาตรฐานยกเลิกการผลิตรุ่นเปิดประทุน, ซูเปอร์ บีเทิล ใช้ช่วงล่างแบบแม็คเฟอร์สันสตรัท ระยะฐานล้อยาวขึ้น 20 มิลลิเมตร ต่อมา รุ่นปี พ.ศ. 2515 มีกระจกหลังที่ใหญ่ขึ้นเล็กน้อย แต่ที่เห็นได้ชัดก็คือ ซูเปอร์ บีเทิล 1303 รุ่นปี พ.ศ. 2516 เป็นเพียงรุ่นเดียวในประวัติศาสตร์บีเทิลที่ใช้กระจกหน้าแบบโค้ง ส่วนรุ่นอื่นจะเป็นกระจกแบนทั้งหมด และ เครื่องปรับอากาศแบบปรับความแรงลม 2 สปีด และบังโคลนท้ายรถถูกยกสูงขึ้น หลังจากนั้นไม่นาน การพัฒนาครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายของบีเทิล คือ ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และญี่ปุ่น บีเทิลเปลี่ยนเครื่องยนต์จากแบบคาร์บูเรเตอร์ เป็นหัวฉีด Air Flow System และเปลี่ยนไปใช้พวงมาลัย Rack And Pinion หลังจากนั้น ก็ไม่มีการพัฒนาที่เห็นได้ชัดของบีเทิลอีก
หลังจากผลิตมาเป็นเวลานานโดยไม่ได้มีการออกแบบขึ้นใหม่เลย รูปทรงของบีเทิล ก็เริ่มล้าสมัยเมื่อเทียบกับรถรุ่นใหม่ๆ รถยนต์จากยี่ห้ออื่นๆ รถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า และวางเครื่องยนต์อยู่ด้านหน้า เริ่มเข้ามาครองความนิยมแทนรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหลัง และวางเครื่องยนต์อยู่ด้านหลัง ยอดจำหน่ายของบีเทิลลดลง โฟล์กสวาเกน พยายามสร้างรถรุ่นใหม่ๆ เพื่อส่งเสริ่มให้เป็นรถที่ได้รับความนิยมต่อจากบีเทิล โดยสร้างรถที่มีความหรูหรามากกว่าบีเทิล แต่ก็ไม่ได้รับผลตอบรับที่ดีเท่าที่ควร ทำให้การลงทุนครั้งแล้วครั้งเล่าต้องสูญเปล่า ผู้คนในช่วงนั้น แทบไม่รู้จักรถรุ่นอื่นของโฟล์กสวาเกนเลยนอกจากบีเทิล เมื่อบีเทิลเสื่อมความนิยม โฟล์กสวาเกน ประสบกับภาวะขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง ถึงกับต้องกู้เงินจากรัฐบาลเยอรมนี แต่ถ้ากู้ยืมมาเพียงอย่างเดียว จะพึ่งบีเทิลต่อก็คงจะพึ่งได้อีกไม่นาน โฟล์กสวาเกนจึงต้องพัฒนารถรุ่นใหม่ขึ้นมาอีก เป็นโอกาสสุดท้ายของความอยู่รอดของบริษัท
ในโอกาสสุดท้ายนั้น โฟล์กสวาเกนจึงได้ทดลองออกแบบรถรุ่นใหม่ให้ต่างออกไปจากรถรุ่นอื่นๆ คือ ออกแบบเพื่อให้เป็นรุ่นต่อของบีเทิลโดยเฉพาะ คือ ขนาดกะทัดรัด ประหยัดน้ำมัน ขับง่าย ไม่หรูหราฟุ่มเฟือย ราคาไม่แพงนัก และรูปทรงที่ดูเป็นมิตร แต่ได้ผสมผสานความทันสมัยเข้าไป และในที่สุดก็เปิดตัวใน พ.ศ. 2517 คือ โฟล์กสวาเกน กอล์ฟ รถ Hatchback ซึ่งโฟล์กสวาเกนได้ประชาสัมพันธ์ว่ากอล์ฟ เป็นรถรุ่นต่อของบีเทิลอย่างเป็นทางการ กอล์ฟประสบความสำเร็จอย่างสูง ช่วยกอบกู้บริษัทโฟล์กสวาเกนไว้ แต่โฟล์กสวาเกนก็ยังผลิตบีเทิลควบคู่กันไป แต่ทว่า เมื่อมีกอล์ฟเข้ามาแทนที่แล้ว ยอดจำหน่ายของบีเทิลลดลง
พ.ศ. 2519 ซูเปอร์ บีเทิล รุ่นซีดาน ยกเลิกการผลิต คงเหลือไว้เพียงซีดานในบีเทิลรุ่นมาตรฐาน กับเปิดประทุน ในซูเปอร์ บีเทิล, พ.ศ. 2521 โฟล์กสวาเกนได้ย้ายฐานการผลิตบีเทิลจากยุโรปไปที่เม็กซิโกและบราซิล เพราะเป็นเขตที่โฟล์กสวาเกนคาดว่าน่าจะสามารถขายบีเทิลได้มากกว่าที่ยุโรป หลังจากนั้น โฟล์กสวาเกน ก็เริ่มยกเลิกการจำหน่ายบีเทิลในประเทศที่ยอดขายของบีเทิลตกต่ำลงมาก (บีเทิล ยกเลิกการจำหน่วยในประเทศไทยในปีเดียวกัน), พ.ศ. 2522 เปิดตัวโฟล์กสวาเกน เจ็ตตา ซึ่งเป็นรถที่โฟล์กสวาเกนประกาศเป็นรถรุ่นต่อของบีเทิลในรูปแบบรถซีดาน ตามด้วย โฟล์กสวาเกน กอล ที่เปิดตัวตามมาใน พ.ศ. 2523 ทั้ง 3 รุ่นที่เปิดตัว โฟล์กสวาเกนประกาศว่าเป็นรถรุ่นต่อของบีเทิล และประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งสามรุ่น ซึ่งได้ค่อยๆ เข้าแทนที่บีเทิลในประเทศต่างๆ จนในที่สุด พ.ศ. 2541 โฟล์กสวาเกนเปิดตัวรถรุ่น โฟล์กสวาเกน นิว บีเทิล ซึ่งออกแบบมาเป็นรูปทรงเต่าทองคล้ายบีเทิล ซึ่งโฟล์กสวาเกน ประกาศเป็นรถที่สืบสานตำนานเต่าทองโดยตรง ซึ่งนับว่า บีเทิล ถูกแทนที่โดยรถรุ่นอื่นอย่างสมบูรณ์ หลังจากเปิดตัวนิว บีเทิล เหลือเพียงประเทศเม็กซิโกเท่านั้น ที่ยังมีการผลิตบีเทิลรุ่นเดิม
พ.ศ. 2541 เป็นต้นไป เหลือเพียงประเทศเม็กซิโก เป็นประเทศเดียวในโลกในขณะนั้นที่โรงงานโฟล์กสวาเกนยังผลิตบีเทิล จนกระทั่ง พ.ศ. 2545 ยอดจำหน่ายบีเทิลลดลงเหลือเพียงประมาณ 30,000 คันเท่านั้น จากที่เคยจำหน่ายได้ปีละ 1.3 ล้านคันใน พ.ศ. 2514 ทำให้โฟล์กสวาเกน ตัดสินใจ ยุติการผลิตบีเทิลลงอย่างเป็นทางการ โฟล์กสวาเกน บีเทิล คันสุดท้าย ถูกผลิตขึ้นในวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 เป็นคันที่ 21,529,464 มีการตั้งชื่อเล่นขอรงถคันสุดท้ายนี้ว่า "El Rey" เป็นภาษาสเปน ซึ่งแปลว่า ราชา ซึ่งได้ขนส่งไปแสดงที่พิพิธภัณฑ์โฟล์กสวาเกน ที่เมืองวูล์ฟเบิร์ก ประเทศเยอรมนีในปัจจุบัน
โดยส่วนใหญ่แล้ว เจ้าของรถบีเทิลมักจะรักษาสภาพเดิมของบีเทิลไว้ให้ได้มากที่สุด แต่ก็มีเจ้าของจำนวนไม่น้อยที่นำบีเทิลไปแต่งรถ ด้วยเพราะบีเทิลใช้เทคโนโลยีมาตรฐาน การแต่งจะมาสามารถทำได้ง่าย ราคาถูก และสามารถแสดงตัวตนของเจ้าของออกมาได้ชัดเจน รูปแบบการแต่งบีเทิลที่พบเห็นได้มากคือ บาจา บั๊ก และ แคลิฟอร์เนีย ลุค
บาจา บั๊ก เป็นการแต่งบีเทิลเป็นรถออฟโรด (สามารถวิ่งนอกถนนได้ วิ่งบนทะเลทราย ทุ่งหญ้า ชายหาด ได้) โดยโหลดสูง ใส่ล้อใหญ่ และปรับแต่เครื่องยนต์พอควร ส่วนแคลิฟอร์เนีย ลุค จะมีลักษณะโหลดเตี้ย เปลี่ยนล้อเป็นล้อ 5 Spokes หรือ 8 Spokes และบางคันก็ถอดกันชนเดิมออก แล้วใส่แท่งเหล็กรับการชนแทน ดังรูป หรือเปลี่ยนเป็นกันชนโครเมียมหรือขัดมัน และนอกจากนี้ ยังมีการตกแต่งภายนอกแบบไม่อิงรูปแบบใดๆ ก็มีไม่น้อย
เจ้าของรถส่วนใหญ่มักจะรักษาสภาพภายในรถไว้แบบเดิมๆ แต่ด้วยความที่บีเทิลใช้เทคโนโลยีพื้นฐาน ง่ายดัดแปลง จึงมีเจ้าของรุจำนวนไม่น้อยที่ดัดแปลงภายในด้วย ที่พบเห็นได้มากคือ ติดตั้งเครื่องเสียง รวมถึงดัดแปลงลำโพง ติดซับวูเฟอร์ ส่วนรถแต่งซิ่ง ก็มีบ้างที่ใส่คานกันยุบใว้เต็มคัน แต่บีเทิลที่จะแต่งเป็นรถแข่งเต็มตัวก็หาได้ยาก ด้วยความที่ยังมีตัวเลือกเป็นรถที่ออกแบบเป็นรถสปอร์ตของแท้อีกหลายรุ่น เช่น ฟอร์ด มัสแตง รวมถึงรถสปอร์ตของยี่ห้ออื่นๆ ซึ่งเป็นรถสปอร์ตจริง ซึ่งจะน่าเชื่อถือกว่ารถสปอร์ตที่ดัดแปลงมาจากรถธรรมดาอย่างที่บางคนทำกับบีเทิล
เครื่องยนต์เดิมของบีเทิล เป็นเครื่องยนต์ 4 สูบแถวเรียง ขนาดใหญ่ที่สุด 1600 ซีซี มีบางคนที่ต้องการใช้บีเทิลในการแข่งรถ ได้ไปเปลี่ยนเครื่องยนต์ โดยนำเครื่องเดิมออก และใส่เครื่องยนต์สมรรถนะสูงลงแทน เช่น เครื่องยนต์ขนาดลูกสูบที่ใหญ่ขึ้น หรือเครื่องยนต์ 6 สูบ หรือ 8 สูบแบบวี เมื่อนำเครื่องลงแล้ว บีเทิลจะได้เปรียบรถรุ่นอื่นๆ คือ นำหนักของบีเทิลน้อย เพียงประมาณ 800 กิโลกรัม เมื่อลงเครื่องที่สมรรถนะสูง กำลังสูง จะทำให้ได้อัตราเร่งที่ดี จึงมีบีเทิลดัดแปลงจำนวนไม่น้อย ที่ได้ลงแข่งในสนาม ที่พบเห็นได้มากคือ สนาม Drag Racing คือ แข่งขันการขับยกล้อหน้าของรถเก๋ง ส่วน บาจา บั๊ก ก็เข้าสนามแข่งรถออฟโรดอยู่มากพอสมควร
Drag Racing คือการแข่งขับขับรถเก๋งยกล้อหน้า (คล้ายพฤติกรรมของนักซิ่งรถจักรยานยนต์วัยรุ่น แต่ทำกับรถเก๋ง) บีเทิลมีชื่อเสียงค่อนข้างมากในวงการนี้ เพราะ เครื่องยนต์อยู่ด้านหลัง (ทำให้จุดศูนย์กลางของมวลรถไม่ถ่วงไปด้านหน้า) และเป็นรถขับเคลื่อนล้อหลัง (ทำให้เวลาวิ่งจะใช้แรงส่งจากล้อด้านหลัง ไม่ใช่แรงดึงจากล้อด้านหน้า) เมื่อดัดแปลงช่วงล่างรถยนต์และ/หรือ เปลี่ยนเครื่องยนต์แล้ว จะทำให้ง่ายขับยกล้อกว่ารถสมัยใหม่รุ่นอื่นๆ
Fun Cup เป็นการแข่งอัตราเร็ว แต่มีระยะทางในการแข่งยาวกว่าสนามทั่วไปมาก ใช้เวลาแข่ง 3-6 ชั่วโมง บีเทิล เป็นหนึ่งในรถที่มีชื่อเสียงในการแข่งขัน Fun Cup โดยเฉพาะเมื่อดัดแปลงรถ (ซึ่งสามารถดัดแปลงได้อย่างง่ายดาย เพราะบีเทิล ใช้เทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน) ให้เข้ากับสนามแข่งแล้ว สามารถแข่งในสนามดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เป็นสนามแข่งแบบออฟโรด ส่วนใหญ่ผู้เข้าแข่งขันจะเป็นเจ้าของบีเทิลที่ดัดแปลงในแบบบาจา บั๊ก แต่ก็มีบีเทิลแบบไม่ดัดแปลงเข้าแข่งขันด้วยเช่นกัน ซึ่งเคยมีการทำสารคดีเกี่ยวกับการแข่งขันนี้ คือสารคดีเรื่อง Dust to Glory การแข่งขันนี้ แบ่งออกเป็น 3 รุ่น คือ บาจา บั๊ก ประเภทไม่จำกัดขนาดเครื่องยนต์, บาจา บั๊ก ประเภทเครื่องยนต์ขนาด 1600 ซีซี และ บีเทิลรุ่นไม่ดัดแปลง
เป็นสนามแข่งแบบวงรอบ จัดขึ้นมาสำหรับบีเทิลโดยเฉพาะ รับสมัครรถยนต์บีเทิลทุกอายุ มีข้อจำกัดเพียงขนาดล้อ และเครื่องยนต์ (ต้องใช้เครื่องยนต์ที่เป็นเครื่องของบีเทิลเท่านั้น เคยเปลี่ยนเครื่องได้ แต่เครื่องใหม่ก็ต้องเป็นเครื่องยนต์เดิมที่ออกแบบสำหรับบีเทิลเท่านั้น)
ถึงแม้โฟล์กสวาเกนจะเปิดตัวรถรุ่นโฟล์กสวาเกน กอล์ฟ, โฟล์กสวาเกน เจ็ตตา และ โฟล์กสวาเกน กอล ขึ้น โดยประกาศว่าเป็นรถรุ่นต่อของบีเทิล ทั้งสามรุ่นมีขนาดกะทัดรัด ขับง่าย และมีคอนเซปต์การใช้งานใกล้เคียงบีเทิล แต่ทว่า ทั้งสามรุ่น เป็นรถที่ได้รับการออกแบบใหม่ในรูปทรงที่คล้ายรถทั่วไป ไม่ใช่รถที่มีรูปลักษณ์พิเศษเป็นหนึ่งเดียวในยุคสมัยเหมือนบีเทิล ดังนั้น โฟล์กสวาเกนได้ออกแบบรถรุ่นใหม่ขึ้น เพื่อให้เป็นรถที่สืบสานตำนานเต่าทองโดยตรง โดยจะออกแบบมาให้เป็นเต่าทอง คล้ายกับบีเทิลให้มากที่สุด แต่เปลี่ยนรูปทรงให้ทันสมัย จนในที่สุด ก็ได้เปิดตัว โฟล์กสวาเกน นิว บีเทิล ขึ้นใน พ.ศ. 2541 มีรูปทรงคล้ายคลึงบีเทิลรุ่นเดิมมาก แต่นิว บีเทิล จะวางเครื่องยนต์ที่ด้านหน้า และขับเคลื่อนล้อหน้า ต่อมา นิว บีเทิล ได้ถูกส่งไปขายยังตลาดในประเทศต่างๆ แทนที่บีเทิลตัวเดิม หลังจากเปิดตัวรถรุ่นนี้แล้ว จึงเหลือเพียงประเทศเม็กซิโกเท่านั้น ที่ยังมีจำหน่ายบีเทิลตัวเดิม
ถึงกระนั้น ก็ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงนิว บีเทิล ว่า ไม่ใช่ "รถยนต์ของประชาชน" เหมือนที่บีเทิลตัวเดิมเป็น ด้วยเพราะราคาที่สูงกว่าบีเทิลตัวเดิมมาก บีเทิลตัวเดิมนั้นเริ่มผลิตขึ้นโดยมีราคาเพียง 990 ไรซ์มาร์ค (ใกล้เคียงราคาของรถจักรยานยนต์) แต่ นิว บีเทิล มีราคาสูงกว่ามาก แม้จะเปรียบเทียบค่าเงินเฟ้อแล้วก็ตาม เช่น ในประเทศไทย นิว บีเทิล มีราคาเริ่มต้นในช่วงเปิดตัวอยู่ที่ 1.6 ล้านบาท และต่อมาก็ได้เริ่มมีการเน้นการจำหน่ายในระบบประมูลอยู่ช่วงหนึ่ง ทำให้ราคานิว บีเทิลสูงขึ้นไปอีก ซึ่งปัจจุบันมีราคาสูงกว่า 2 ล้านบาท (ซึ่งใกล้เคียงราคาของรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ ในรุ่นซี-คลาส) รวมทั้งเอกลักษณ์เฉพาะตัวของบีเทิลตัวเดิมถูกเปลี่ยนเกือบทั้งหมด (เหลือเพียงรูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้นที่คล้ายคลึง) เช่น เครื่องยนต์ที่เคยติดตั้งด้านหลังก็ย้ายมาด้านหน้า จากที่ขับเคลื่อนล้อหลังก็เปลี่ยนมาขับเคลื่อนล้อหน้า (และจากที่เคยราคาใกล้เคียงจักรยานยนต์ก็กลับใกล้เคียงราคารถเบนซ์) ทำให้ นิว บีเทิล ไม่ประสบความสำเร็จในแง่กระแสวิจารณ์ แต่ถือว่าประสบความสำเร็จอยู่บ้างในแง่ความนิยมและยอดขาย ที่ถึงแม้จะไม่เท่ายุคที่บีเทิลทำตลาดอยู่ แต่ก็ประสบความสำเร็จได้ด้วยดี